Last updated: 3 เม.ย 2567 | 1132 จำนวนผู้เข้าชม |
กำไรจากธุรกิจ (Business profits)
เงินได้ที่สำคัญมากประเภทหนึ่งตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ได้แก่ เงินได้ประเภทกำไรจากธุรกิจ เพราะเป็นเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจต่างๆ เป็นจำนวนมากในบทนี้จะอธิบายความหมายของกำไรจากธุรกิจ (1) เสียก่อน และหลังจากนั้นจะได้กล่าวถึงหลักการเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับกำไรจากธุรกิจ (2) ตามหลักการของอนุสัญญาภาษีซ้อน
ความหมายกำไรธุรกิจ
แม้ว่าในหลักการทั่วไป (1.1) คำว่า “กำไรจากธุรกิจ” จะไม่มีการเขียนคำจำกัดความไว้ในอนุสัญญาภาษีซ้อนก็ตาม แต่ในอนุสัญญาภาษีซ้อนของประเทศไทยบางฉบับ ได้มีการกำหนดความหมายพิเศษ (1.2) ของเงินได้ประเภทดังกล่าวไว้โดยคำว่า ”กำไรจากธุรกิจ” นี้ได้ถูกตีความบิดเบือนไปในบางกรณีในทางปฏบัติ (1.3)
ความหมายทั่วไปของกำไรจากธุรกิจ
ในอนุสัญญาภาษีซ้อนโดยทั่วไป จะไม่มีการกำหนดคำจำกัดความของคำว่า “กำไรจากธุรกิจ” โดยเป็นที่ยอมรับกันว่า ไม่มีความจำเป็นต้องเขียนไว้ เพราะต้องการให้ตีความจากถ้อยคำของคำว่า “กำไรจากธุรกิจ” เอง อย่างไรก็ดี เป็นที่เข้าใจกันว่า “กำไรจากธุรกิจ” มีความหมายกว้าง และรวมถึงเงินได้ทั้งหมดที่ได้มาจากการประกอบ กิจการ (all income derived From carrying on an enterprise) ซึ่งไม่ตกอยู่ภายใต้เงินได้ประเภทอื่นๆ หรือที่เรียกว่า ข้อบทเฉพาะ (special articles) ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา
ความหมายเฉพาะของกำไรจากธุรกิจ
ในอนุสัญญาภาษีซ้อนของประเทศไทยบางฉบับ ได้มีการกำหนดความหมายของกำไรจากธุรกิจไว้เป็นพิเศษเพื่อให้เงินได้ดังกล่าวรวมถึงหรือไม่รวมถึงเงินได้บางประเภทที่ตกลงกัน ตัวอย่างของความหมายพิเศษดังกล่าว ได้แก่ กรณีดังต่อไปนี้
อนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา
อนุสัญญาดังกล่าว กำหนดให้คำว่า “กำไรจากธุรกิจ” หมายถึง เงินได้ที่ได้รับจากการค้าหรือธุรกิจใดๆ รวมถึงกำไรจากการให้เช่าเรือ เครื่องบิน และตู้สินค้า รวมทั้งรถพ่วง เรือบรรทุก และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งหรือตู้สินค้า
อนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น
อนุสัญญาดังกล่าว กำหนดให้คำว่า “เงินได้หรือกำไร” ไม่รวมถึงค่าตอบแทนการใช้หรือสิทธิในการใช้ทรัพย์สินใดๆ ที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์และที่มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าสิทธิ
ความบิดเบือนที่เกี่ยวกับความหมายของกำไรจากธุรกิจ
ความหมายทั่วไปของกำไรจากธุรกิจดังกล่าวแล้วนั้น ในทางปฏิบัติปรากฏว่ากรมสรรพากรไทยมักจะตีความบิดเบือนไปในกรณีของเงินได้จากการรับจ้างทำของโดยบ่อยครั้ง กรมสรรพากรมักจะตีความให้เงินได้จากการรับจ้างทำของเป็นค่าสิทธิ ตัวอย่างเช่น กรมสรรพากรเคยวินิจฉัยเงินได้จากการรับจ้างติดตั้งและซ่อมอาวุธสงคราม เงินได้จากการซ่อมอากาศยาน เป็นค่าสิทธิแทนที่จะเป็นกำไรจากธุรกิจทั้งๆที่ในกรณีตามหนังสือตอบข้อหารือดังกล่าว เป็นกรณีที่ผู้รับจ้าง ใช้ความรู้ในการทำงานให้กับผู้ว่าจ้างโดยไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิหวงกันในงานที่ทำ และโดยไม่มีการถ่ายทอดข้อมูลอันอาจถือว่าเป็นวิทยาการแต่อย่างใด
ที่มา : หนังสือสารพันปัญหาภาษีระหว่างประเทศ
10 มิ.ย. 2567
18 ก.ย. 2567
9 ก.ย. 2567
5 มิ.ย. 2567